วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553


สมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325 - ปัจจุบัน)


รูปแบบการปกครองของกรุงศรีอยุธยาคงใช้อยู่เรื่อยมา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้มีการปฏิรูป

การปกครองขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าการปรับปรุงระเบียบแบบแผนการปกครอง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการวางแนวรากฐานเตรียมพร้อมไว้สำหรับการปฏิรูปมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยพระองค์ได้ทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาอารยธรรมตะวันตก ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับทราบถึงความเจริญก้าวหน้าในหลักการปกครองของชาติตะวันตกและนำมาปรับปรุงการปกครองของไทย

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคแห่งการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยต้องตกเป็นอาณานิคมของประเทศทั้งสอง ส่วนประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มิได้เป็นอาณานิคมของชาติใด ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ จึงแข่งขันกันเพื่อเข้ามามีอิทธิพลเหนือประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงดำเนินนโยบายทางการทูต เพื่อมิให้ประเทศมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถือเป็นข้ออ้างในการยึดครองประเทศไทย โดยการเร่งพัฒนาประเทศให้มีความเจริญในด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และศึกษาหาความรู้ ความเข้าใจในภาษา วัฒนธรรม และสถานการณ์ต่าง ๆ ของชาติตะวันตก อันจะทำให้การเจรจากับประเทศเหล่านั้นดีขึ้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีแนวความคิดที่มีประโยชน์ต่อการปกครองอย่างยิ่ง 2 ประการ คือ

1) การศึกษาภาษาต่างประเทศ พระองค์ทรงศึกษาภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง เพื่อจะได้ใช้เจรจากับประเทศมหาอำนาจ กับส่งเสริมให้ข้าราชการได้ศึกษาหาความรู้ให้สามารถเข้าใจภาษาต่างประเทศ จะได้ไม่เสียเปรียบชาวต่างประเทศ

2) การบริหารราชการแผ่นดิน พระองค์ทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาช่วยราชการด้านต่าง ๆ เช่น ครูฝึกทหาร ครูสอนภาษาอังกฤษ ผู้จัดการท่าเรือ ผู้อำนวยการศุลกากร เป็นต้น เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยมีความเจริญในด้านต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ฝึกให้ข้าราชการไทยได้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติราชการต่อไปด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครอง เพราะทรงเห็นว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะรักษาเอกราชของบ้านเมืองไว้ได้ในช่วงการขยายลัทธิจักรวรรดินิยมของชาติตะวันตก การปรับปรุงการปกครองให้ทันสมัย ทำให้ชาวต่างชาติเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เจริญแล้ว สามารถปกครองดูแลพัฒนาบ้านเมืองได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ประเทศชาติมีรายได้ในการทำนุบำรุงบ้านเมืองมากขึ้น ทำให้สายตาของชาวต่างชาติมองประเทศไทยต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ และด้วยการวางวิเทโศบายทางการทูตกับชาติตะวันตกอย่างเหมาะสม ยอมรับว่าชาวยุโรปเป็นชาติที่เจริญ ให้เกียรติและยกย่อง พร้อมกับเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติบางอย่าง เพื่อให้เห็นว่าไทยไม่ใช่ชนชาติป่าเถื่อน เช่น ให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า นอกจากนั้น ยังยอมผ่อนปรนอย่างชาญฉลาด แม้จะเสียผลประโยชน์หรือดินแดนไปบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย ยังสามารถรักษาส่วนใหญ่ไว้ได้ ทำให้ประเทศไทยคงความเป็นชาติที่มีเอกราชมาได้ตลอด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีแนวความคิดในการปฏิรูปการปกครองอยู่ 3 ประการ คือ

1) การรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อมิให้ชาติตะวันตกอ้างเอาดินแดนไปยึดครองอีก ถ้าอำนาจของรัฐบาลกลางแผ่ไปถึงอาณาเขตใด ก็เป็นการยืนยันว่าเป็นอาณาเขตของประเทศไทย

2) การศาลและกฎหมายที่มีมาตรฐาน จากการยอมเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในรัชกาลที่ 4 เป็นเพราะประเทศอาณานิคมอ้างว่าศาลไทยไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระราชดำริที่จะปรับปรุงการศาลยุติธรรมและกฎหมายไทยให้เป็นสากลมากขึ้น

3) การพัฒนาประเทศ พระองค์ทรงริเริ่มนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น สร้างถนน ขุดคูคลอง จัดให้มีการปกครอง ไฟฟ้า ไปรษณีย์ โทรเลข รถไฟ เป็นต้น

การปฏิรูปการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ก่อให้เกิดการจัดระเบียบการปกครองที่สำคัญ จำแนกได้ 3 ส่วน คือ

1) การปกครองส่วนกลาง

การปรับปรุงการบริหารราชการในส่วนกลางของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คือ ทรงยกเลิกตำแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหกลาโหม และสมุหนายก รวมทั้งจตุสดมภ์ โดยแบ่งการบริหารราชการออกเป็นกระทรวงตามแบบอารยประเทศ และให้มีเสนาบดีเป็นผู้ว่าการแต่ละกระทรวง กระทรวงที่ตั้งขึ้นทั้งหมด เมื่อ พ.ศ.2435 มี 12 กระทรวง คือ

(1) มหาดไทย รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาว

(2) กลาโหม รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายใต้ หัวเมืองฝ่ายตะวันออก ตะวันตก และเมืองมลายู

(3) ต่างประเทศ รับผิดชอบเกี่ยวกับการต่างประเทศ

(4) วัง รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการในพระราชวัง

(5) เมืองหรือนครบาล รับผิดชอบเกี่ยวกับการตำรวจและราชทัณฑ์

(6) เกษตราธิการ รับผิดชอบเกี่ยวกับการเพาะปลูก เหมืองแร่ ป่าไม้

(7) คลัง รับผิดชอบเกี่ยวกับภาษีอากรและงบประมาณแผ่นดิน

(8) ยุติธรรม รับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคดีและการศาล

(9) ยุทธนาธิการ รับผิดชอบเกี่ยวกับการทหาร

(10) ธรรมการ รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษา การสาธารณสุขและสงฆ์

(11) โยธาธิการ รับผิดชอบเกี่ยวกับการก่อสร้าง ถนน คลอง การช่าง ไปรษณีย์โทรเลข และรถไฟ

(12) มุรธาธิการ รับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาตราแผ่นดิน และงานระเบียบสารบรรณ

ภายหลังได้ยุบกระทรวงยุทธนาธิการไปรวมกับกระทรวงกลาโหม และยุบกระทรวงมุรธาธิการไปรวมกับกระทรวงวัง คงเหลือเพียง 10 กระทรวง เสนาบดีทุกกระทรวงมีฐานะเท่าเทียมกัน และประชุมร่วมกันเป็นเสนาบดีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาและช่วยบริหารราชการแผ่นดินตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย เพราะอำนาจสูงสุดเด็ดขาดเป็นของพระมหากษัตริย์ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงแต่งตั้ง "สภาที่ปรึกษาในพระองค์" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "รัฐมนตรีสภา" ประกอบด้วย เสนาบดี หรือผู้แทน กับผู้ที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รวมกันไม่น้อยกว่า 12 คน จุดประสงค์เพื่อให้เป็นที่ปรึกษาและคอยทัดทานอำนาจพระมหากษัตริย์ แต่การปฏิบัติหน้าที่ของสภาดังกล่าวไม่ได้บรรลุจุดประสงค์ที่ทรงหวังไว้ เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ไม่กล้าโต้แย้งพระราชดำริ คณะที่ปรึกษาส่วนใหญ่มักพอใจที่จะปฏิบัติตามมากกว่าที่จะแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงแต่งตั้ง "องคมนตรีสภา" ขึ้นอีก ประกอบด้วยสมาชิกเมื่อแรกตั้งถึง 49 คน มีทั้งสามัญชน ตั้งแต่ชั้นหลวงถึงเจ้าพระยา และพระราชวงศ์ องคมนตรีสภานี้อยู่ในฐานะรองจากรัฐมนตรีสภา เพราะข้อความที่ปรึกษา และตกลงกันในองคมนตรีสภาแล้วจะต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐมนตรีสภาก่อนแล้วจึงจะเสนอเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ

2) การปกครองส่วนภูมิภาค

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ยกเลิกการปกครองหัวเมือง และให้เปลี่ยนแปลงเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคโดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ขึ้น เพื่อจัดการปกครองเป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ดังนี้

(1) มณฑลเทศาภิบาล ประกอบด้วยเมืองตั้งแต่ 2 เมืองขึ้นไป มีสมุหเทศาภิบาล ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งไปปกครองดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ

(2) เมือง ประกอบด้วยอำเภอหลายอำเภอ มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ ขึ้นตรงต่อข้าหลวงเทศาภิบาล

(3) อำเภอ ประกอบด้วยท้องที่หลาย ๆ ตำบล มีนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ

(4) ตำบล ประกอบด้วยท้องที่ 10 - 20 หมู่บ้าน มีกำนันซึ่งเลือกตั้งมาจากผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบ

(5) หมู่บ้าน ประกอบด้วยบ้านเรือนประมาณ 10 บ้านขึ้นไป มีราษฎรอาศัยประมาณ 100 คน เป็นหน่วยปกครองที่เล็กที่สุด มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกเลิก มณฑลเทศาภิบาล และเปลี่ยน เมือง เป็น จังหวัด

3) การปกครองส่วนท้องถิ่น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาล ซึ่งมีหน้าที่คล้ายเทศบาลในปัจจุบัน เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2440 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) ขึ้นบังคับใช้ในกรุงเทพฯ ต่อมาใน ร.ศ.124 (พ.ศ. 2448) ได้ขยายไปที่ท่าฉลอม ปรากฏว่าดำเนินการได้ผลดีเป็นอย่างมาก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ขึ้น โดยแบ่งสุขาภิบาลออกเป็น 2 ประเภท คือ สุขาภิบาลเมืองและสุขาภิบาลตำบล ท้องถิ่นใดเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นสุขาภิบาลประเภทใด ก็ให้ประกาศตั้งสุขาภิบาลในท้องถิ่นนั้น

แม้ว่าการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์จะเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พระราชกรณียกิจบางประการของพระมหากษัตริย์ก็ถือได้ว่าเป็นการปูพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงดำเนินการดังต่อไปนี้

1) การเลิกทาส

ทรงประกาศเลิกทาสเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2417 นโยบายการเลิกทาสของพระองค์นั้นเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคทัดเทียมกัน อันเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

2) การสนับสนุนการศึกษา

ทรงจัดตั้งโรงเรียนเพื่อสนับสนุนให้คนไทยได้มีโอกาสเล่าเรียน ศึกษาหาความรู้ ตั้งทุนพระราชทาน ส่งผู้มีความสามารถไปศึกษาต่อต่างประเทศ จากการสนับสนุนการศึกษาอย่างกว้างขวางนี้ นับได้ว่าเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดในการปกครองประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

3) การปฏิรูปการปกครอง

ทรงเปิดโอกาสให้ข้าราชการมีส่วนรับผิดชอบในการบริหารมากขึ้น ทรงสนับสนุนการปกครองท้องถิ่นด้วยการจัดตั้งสุขาภิบาล ทำให้ประชาชนธรรมดามีส่วนและมีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์การบริหารการปกครอง ตามหลักการประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนในการปกครองบ้านเมือง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีการส่งเสริมการศึกษาให้แพร่หลาย มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่ง และสนับสนุนให้ทุนหลวงโดยส่งนักเรียนไปเรียนในต่างประเทศ มีการศึกษาภาคบังคับ โดยกำหนดว่าเด็กที่มีอายุครบเกณฑ์ 7 ปี ต้องเข้ารับการศึกษาขั้นประถมศึกษา ทำให้ประชาชนมีการศึกษาเพิ่มขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงนิยมระบอบประชาธิปไตย โดยได้ทรงตั้ง "เมืองสมมุติดุสิตธานี" ขึ้นในบริเวณวังพญาไท จำลองรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นใช้ในเมืองสมมุตินั้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้มีรัฐธรรมนูญการปกครองลักษณะนคราภิบาล ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของเมือง และให้ข้าราชบริพารสมมุติตนเองเป็นราษฎรของดุสิตธานี มีการจัดตั้งสภาการเมืองและเปิดโอกาสให้ราษฎรสมมุติใช้สิทธิใช้เสียงแบบประชาธิปไตย เป็นเสมือนการฝึกหัดการปกครองแบบประชาธิปไตย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ ในระหว่างเสด็จเยี่ยมเยียนสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2474 ว่า พระองค์ทรงเตรียมการที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน เพราะทรงเห็นว่าคนไทยมีการศึกษาดีขึ้น มีความคิดอ่าน และสนใจทางการเมืองมากขึ้น เมื่อเสด็จกลับมา พระองค์ทรงมอบให้พระศรีวิสารวาจา ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอน สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น แต่ดำเนินการไม่ทันแล้วเสร็จ ก็มีการปฏิวัติขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย (www.parliamentjunior.in.th)

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย มีความคิดและความเคลื่อนไหวเพื่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เริ่มปรากฏให้เห็นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427) และมีเหตุการณ์อื่นอันเป็นแรงผลักดันมากขึ้น สืบสานความคิดมาเป็นการยึดอำนาจการปกครองของประเทศในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ความคิดและความเคลื่อนไหวเพื่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย มีมาจากประชาชนในยุโรป และอเมริกา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 การปกครองของอังกฤษซึ่งค่อยๆ ดำเนินไปสู่ระบบรัฐสภาแห่งเสรีประชาธิปไตย โดยไม่ต้องมีการปฏิวัติเสียเลือดเนื้อ การเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองของอเมริกาจากอังกฤษใน พ.ศ. 2319 (ค.ศ. 1776) และการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2332 (ค.ศ.1789) หลังจากนั้นความคิดแบบประชาธิปไตยก็แพร่ขยายไปยังประเทศต่างๆ ประเทศไทยก็ได้รับแนวความคิดเรื่องการปกครองประเทศระบอบประชาธิปไตยด้วยการติดต่อกับประเทศในยุโรปและอเมริกา

การติดต่อกับต่างประเทศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่มีพระราชไมตรีทางการค้ากับประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2367 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาพวกมิชชันนารีจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทย คนไทยเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษ ศึกษาวิทยาการต่างๆ โดยเฉพาะพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ กลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ และกลุ่มข้าราชการก็ศึกษาวิชาการต่างๆ ด้วย ดังนั้นสังคมไทยบางกลุ่มจึงได้มีค่านิยมโลกทัศน์ตามวิทยาการตะวันตก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2394 นั้นพระองค์ทรงตระหนักว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องยอมเปิดสันติภาพกับประเทศตะวันตกในลักษณะใหม่ และปรับปรุงบ้านเมืองให้ก้าวหน้าเยี่ยงอารยประเทศ ทั้งนี้เพราะเพื่อนบ้านกำลังถูกคุกคามด้วยลัทธิจักรวรรดินิยม จึงทรงเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทยมาเป็นการยอมทำสนธิสัญญาตามเงื่อนไขของประเทศตะวันตก และพยายามรักษาไมตรีนั้นไว้เพื่อความอยู่รอดของประเทศ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้เจริญทัดเทียมกับประเทศตะวันตก ปัจจัยที่จะนำไปสู่จุดหมายได้คือ คน เงิน และการบริหารที่ดี ทรงมีพระราชดำริว่า หนทางแห่งความก้าวหน้าของชาติจะมีมาได้ก็ต้องอาศัยการศึกษาเป็นปัจจัย จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยเด็ดเดี่ยวว่า เยาวชนรุ่นใหม่ทั้งของราชวงศ์และบุตรขุนนางจะต้องได้รับการศึกษาอย่างดีกว่ารุ่นพระองค์เอง ในระยะแรกอิทธิพลของประเทศตะวันตกที่มีต่อประเทศไทยคือ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร์ (ม.ร.ว. เทวหนึ่ง สิริวงศ์) ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษเป็นพวกแรก นับว่าเป็นครั้งแรกที่ทรงส่งนักเรียนหลวงไปเรียนถึงยุโรป ต่อมาก็ส่งพระราชโอรสและนักศึกษาไปศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเดนมาร์ก และประเทศรัสเชีย ก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคัดเลือกหม่อมเจ้า 14 คน ไปเรียนหนังสือที่สิงคโปร์ 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2415 ในโอกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปสิงค์โปร์ในปี พ.ศ. 2413 นั่นเป็นการเตรียมคนที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบา พระราชภาระในการปรับปรุงประเทศ การเตรียมปัจจัยการเงินเป็นการเตรียมพร้อมประการหนึ่ง ถ้าขาดเงินจะดำเนินกิจการใดให้สำเร็จสมความมุ่งหมายคงจะเป็นไปได้ยาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า การจัดการเงินแบบเก่ามีางรั่วไหลมาพวกเจ้าภาษีนายอากรไม่ส่งเงินเข้าพระคลังครบถ้วนตามจำนวนที่ประมูลได้พระองค์จึงทรงจัดการเรื่องการเงินของแผ่นดินหรือการคลังทันทีที่พระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะ มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินเต็มที่ เริ่มด้วยให้ตราพระราชบัญญัติตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ จ.ศ. 1235 (พ.ศ. 2416) มีพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติในปี จ.ศ. 1237 (พ.ศ. 2418) เพื่อจะได้ใช้จ่ายทุนบำรุงประเทศ ต่อมาทรงให้จัดทำงบประมาณจัดสรรเงินให้แต่กระทรวงต่างๆ เป็นสัดส่วน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงทันได้ปรับปรุงการปกครองประเทศให้เป็นไปตามที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ ก็มีกลุ่มเจ้านายและข้า ราชการทำหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดินเมื่อ ร.ศ. 103 (พ.ศ.2427) ทั้งนี้อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า ที่พระองค์ยังไม่ทรงปรับปรุงงบการบริหารประเทศก่อน พ.ศ. 2428 เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ วิกฤติการณ์วังหน้า เมื่อพ.ศ. 2417 การที่ทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ให้รวมเงินมาอยู่ที่เดียวกัน กระทบกระเทือนต่อเจ้านาย เละข้าราชการ โดยเฉพาะกรมพระราชวังบวร สถานมงคล กรมหมื่นไชยชาญ วิกฤติการณ์วังหน้าเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า แสดงถึงปฏิกิริยาโต้ตอบ การริเริ่มดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือสถาบันกษัตริย์ เห็นได้ชัดเจน ว่าเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมหมืนวิไชยชาญ ทิวงคต ในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปรับปรุงการบริหารการปกครองส่วนกลางเป็น 12 กรม (ต่อมาเรียกว่า กระทรวง) ในปี พ.ศ. 2432

ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ได้เริ่มมีมาแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีความเคลื่อนไหวมาตลอดจนถึงวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แนวความคิดและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้แก่

1. การเรียกร้องต้องการรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มเจ้านายและข้าราชการใน ร.ศ.103

2. ร่างรัฐธรรมนูญ แผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

3. บทความเกี่ยวกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเทียนวรรณ

4. ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของกลุ่มกบฏ ร.ศ.130

5. แนวพระราชดำริและการเตรียมการเรื่องระบอบประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

การเรียกร้องต้องการรัฐธรรมนูญของกลุ่มเจ้านายและข้าราชการใน ร.ศ.103

ร.ศ. 103 ตรงกับ พ.ศ. 2427 เป็นปีที่ 17 ของการครองราชย์ชองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีเจ้านายและข้าราชการ จำนวนหนึ่งที่รับราชการ ณ สถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน และกรุงปารีส ได้ร่วมกันลงชื่อในเอกสารกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 ทูลเกล้าฯ ถวาย ณ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 2 ปีวอก ฉอศอ ศักราช 124 ตรงกับวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ.2427

เจ้านายและข้าราชการที่จัดทำหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นครั้งนั้น มีพระนามชื่อปรากฏอยู่ท้ายเอกสาร ได้แก่

1. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ (พระเจ้าบรมวงเธอกรมพระนเรศร์ วรฤทธิ์ )

2. พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (พระเจ้าบรมวง เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา)

3. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (สมเด็จกรมพระสวัสดิ์วัฒน วิศิษฏ์)

4. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์)

5. นายนกแก้ว คชเสนี {พระยามหาโยธา)

6. หลวงเดชนายเวร(สุ่น สาตราภัย ต่อมาเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยพิพิธ)

7. บุศย์ เพ็ญกุล (จมื่นไวยวรนาถ)

8. ขุนปฏิภาณพิจิตร(หุ่น)

9. หลวงวิเสศสาลี (นาค)

10. นายเปลี่ยน

11. สัปเลฟเตอร์แนนสะอาด

สาระสำคัญของคำกราบบังคมทูล นี้อยู่สามข้อ กล่าวคือ

1. ภัยอันตรายจะมาถึงบ้านเมือง เนืองจากการปกครองในขณะนั้น

2. การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตราย ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงบำรุงรักษาบ้านเมืองแนวเดียวกับที่ญีปุ่นได้ทำตามแนวการปกครองของประเทศในยุโรป

3. การที่จะจัดการตามข้อ 2 ให้สำเร็จ ต้องลงมือจัดให้เป็นจริงทุกประการ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบ ความเห็นของคณะที่กราบบังคมทูลจะให้เปลี่ยนแปลงการปกครองว่า พระองค์ทรงตระหนักในอันตรายที่กล่าวมานั้นและไม่ต้องห่วงว่าพระองค์จะทรง “ขัดขวางในการที่จะเสียอำนาจซึ่งเรียกว่า แอบโซลูด พระองค์ทรงกล่าวต่อไปว่าเมื่อพระองค์ทรงครองราชสมบัติใหม่ๆ ทรงไม่มีอำนาจอันใดเลย ขณะพระองค์ทรงมีอำนาจบริบูรณ์ ในเวลาที่ทรงมีอำนาจน้อย ก็มีความลำบาก เวลานี้มีอำนาจมากก็มีความลำบาก พระองค์จึงทรงปรารถนาอำนาจปานกลาง ได้ทรงครองราชย์มาถึง 17-18 ปี ได้ทรงศึกษาเหตุการณ์บ้านเมืองอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เหมือนคางคกในกะลาครอบหรือทรวอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทรงทำอะไรเลย ที่เรียกร้องให้มีรัฐบาล (คอเวอนเมนต์) ก็มีเสนาบดีเป็นรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่ดี สิ่งที่พระองค์ทรงต้องการคือ “คอเวอนเมนตรีฟอม” หมายถึงให้พนักงานของราชการแผ่นดินทุกๆ กรมทำการให้ได้เต็มที่ ให้ได้ประชุมปรึกษากัน ติดต่อกันง่ายและเร็ว อีกประการหนึ่งทรงหาผู้ทำกฎหมายสละที่ปรึกษากฎหมายการกระทำทั้งสองประการต้องได้สำเร็จก่อน การอื่นๆ ก็จะสำเร็จตลอด

แท้จริงแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะทรงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินมาตั้งแต่พระองค์ทรงมีอำนาจในการปกครองอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ ใน พ.ศ.2417 ได้ทรงสถาปนาสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและสภาที่ปรึกษาในพระองค์เป็นองค์กใหม่ช่วยบริหารประเทศ โดยทรงมีพระราชดำริว่า ราชการบ้านเมืองที่จะเกิดขึ้นใหม่และที่คั่งค้างมาแต่เดิมนั้น ไม่สามารถที่จะทรงจัดการให้สำเร็จโดยลำพังพระองค์เอง” ถ้ามีผู้ช่วยกัน คิดหลายปัญญาแล้ว การที่รกร้างมาแต่เดิม ก็จะปลดเปลื้องไปทีละน้อยๆ ความดีความเจริญก็ยังเกิดแก่บ้านเมือง... สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) มีสมาชิกเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา า2 นาย ทำหน้าที่ประชุมปรึกษาข้อราชการและออกพระราชกำหนดกฎหมายตามพระบรมราชโองการ หรืออาจจะกราบบังคมทูลเสนอความคิดเห็นในการออกกฎหมายใหม่ ส่วนสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Council) สมาชิกของสภานี้คือ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการระดับต่างๆ มี 49 นาย ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาข้อราชการ และเสนอความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งอาจจะนำไป อภิปรายในสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน แต่ปรากฏว่าสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและสภาที่ปรึกษาในพระองค์ไม่ได้มีผลงานหรือจะเรียกว่าประสบความล้มเหลว สมาชิกทั้งสองสภาไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็นตามวิถีทางอันควร อาจเป็นเพราะขาดความรู้ความสามารถ และหรือไม่กล้าที่จะออกความคิดเห็นซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่เคยทำมาก่อน